เรื่องของหลังคา: โครงสร้างและวัสดุ

06/06/2018 | 5473


โครงสร้างของหลังคา

โครงสร้างของหลังคานับว่าเป็นโครงสร้างส่วนที่สำคัญของบ้านอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน เพราะหลังคาจะทำหน้าที่คุ้มแดดคุ้มฝนให้แก่ตัวบ้านรวมทั้งผู้อยู่อาศัยด้วย เพราะเหตุว่าด้วยโครงสร้างหลังคา และตัวหลังคาเป็นส่วนที่อยู่สูงสุดของตัวบ้าน ดังนั้นปัญหาเรื่องการรับน้ำหนักของตัวหลังคาจึงไม่ค่อยพบ แต่ที่พบบ่อยจะเป็นปัญหาเรื่องการเกาะยึดของตัวหลังคาและโครงหลังคามากกว่า เช่น เมื่อมีลมพายุพัดแรง ๆ หลังคาที่สร้างไว้ไม่มั่นคงหรือมีการเกาะยึดไม่ดีก็มีโอกาสจะปลิวหลุดหรือเกิดความเสียหายได้มากกว่า นอกจากนี้ปัญหาที่ได้บ่อยอีกอย่างหนึ่งคือการแตกหรือรั่วของหลังคาปัญหาเหล่านี้มักมีสาเหตุมาจากวัสดุที่ใช้ทำหลังคาหรือการขาดความประณีตในการทำหลังคา เหตุเพราะว่าหลังคาเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุดของตัวบ้าน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมักมองไม่เห็นและทำการแก้ไขได้ยาก ฉะนั้นขั้นตอนการทำที่ประณีต และการควบคุมดูแลอย่างถูกต้องจะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมาก หากจะกล่าวถึงโครงสร้างของหลังคาอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. โครงหลังคา
2. วัสดุมุงหลังคา


โครงหลังคา
โครงหลังคาเป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา โดยทำหน้าที่ยึดมุงหลังคาอย่าง เช่นกระเบื้องมุงหลังคาให้อยู่ในลักษณะที่มั่นคงแข็งแรงและเป็นระเบียบ ในขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่ยึดตัว หลังคา ทั้งหมดให้เชื่อมต่อกับโครงสร้างของเสาและคานของตัวบ้านอย่างแข็งแรง โครงหลังคาที่ดีนอกจากจะต้องมีการเชื่อมต่อหรือเกาะยึดอย่างแข็งแรงแล้วยังมีความคงทนต่อดินฟ้าอากาศและสภาพกาลเวลาที่ผ่านไป อีกทั้งการสร้างจะต้องกระทำอย่างประณีตและถูกต้องในแง่ของขนาดและระยะต่าง ๆ เพื่อให้แนวหลังคาที่มุงเสร็จอยู่ในลักษณะเข้าที่เรียบร้อย โครงหลังคาที่ใช้ในบ้านเรือนทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามวัสดุที่ใช้ กล่าวคือ

1. โครงหลังคาไม้
โครงหลังคาที่ทำด้วยไม้นิยมใช้กันมากในสมัยก่อน เพราะต้นทุนของวัสดุต่ำ ขั้นตอนการปลูกสร้าง ก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก อีกประการหนึ่งบ้านในสมัยก่อนยังนิยมปลูกเป็นบ้านไม้ การเชื่อมต่อระหว่างโครงหลังคากับโครงสร้างของเสาและคานที่ทำด้วยไม้เหมือนกันสามารถทำได้โดยสะดวก แต่ในปัจจุบันบ้านเรือนส่วนใหญ่จะปลูกเป็นตึก ประกอบกับไม้เป็นวัสดุที่หายากและมีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะไม้คุณภาพดีที่ให้ความแข็งแรงทนทานและคงรูปก็ยิ่งหายากและมีราคาแพง นอกจากนี้ โครงหลังคาไม้ยังอาจมีปัญหาของปลวกเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ฉะนั้นโครงหลังคาไม้จึงไม่เป็นที่นิยมทำกันในปัจจุบัน สำหรับอาคารบ้านเรือนทั่วไปที่เป็นตึก แต่ยังมีใช้กันอยู่สำหรับบ้านไม้
2. โครงหลังคาเหล็ก
โครงหลังคาที่ทำด้วยเหล็กเป็นโครงหลังคาที่นิยมใช้กันทั่วไปสำหรับอาคารบ้านเรือนใน ปัจจุบัน เพราะเหล็กเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องตลาด อีกทั้งมีรูปแบบและขนาดต่าง ๆ ให้เลือกมากมายเพื่อ ให้เหมาะสมกับการรับน้ำหนักและรูปทรงที่แตกต่างกันของบ้านเรือนแต่ละหลัง นอกจากนี้ เหล็กยังเป็นวัสดุ ที่ให้ความแข็งแรงและความคงรูปเป็นอย่างดี ปราศจากปัญหาเรื่องปลวก ในแง่ของความคงทนและอายุการ ใช้งานนั้นเหล็กที่ผ่านกรรมวิธีป้องกันสนิม เช่น การชุบสังกะสีหรือการเคลือบสีอย่างดีจะมีอายุการใช้งาน ยาวนานหลายสิบปีในสภาพใช้งานปกติ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำโครงหลังคาและวัสดุที่ใช้ทำโครงหลังคา
1. วัสดุที่นำมาใช้จะต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อยและมีขนาดตามที่ระบุไว้ในแบบ ถ้าเป็นไม้จะต้องไม่มีรอยแตกมาก ไม่บิดคดหรือโก่งงอมาก และจะต้องเป็นไม้ที่ผ่านการทาน้ำยากันปลวกเพื่อป้องกันปลวก เอาไว้แล้ว ถ้าเป็นเหล็กจะต้องไม่มีรอยสนิมและต้องเป็นเหล็กที่ผ่านกรรมวิธีการป้องกันสนิม
2. การเชื่อมต่อหรือเกาะยึดของโครงหลังคาเองก็ตามหรือระหว่างโครงหลังคากับเสาและคานของตัวบ้านก็ตามจะต้องทำอย่างมั่นคงแข็งแรงและครบถ้วนทุกจุด โดยเฉพาะโครงหลังคาที่ทำด้วยเหล็กรอยเชื่อมทุกจุดจะต้องทำอย่างแน่นหนา และต้องมีการทาสีกันสนิมเพิ่มเติมตรงรอยเชื่อมเหล่านี้ด้วยเพราะจุดเหล่านี้สามารถเกิดสนิมได้ง่าย


วัสดุมุงหลังคา
วัสดุที่ใช้มุงหลังคามีอยู่มากมายหลายแบบ วัสดุมุงหลังคาที่ทำด้วยใบจากก็ยังคงพบเห็นได้ตามชนบทซึ่งให้ความร่มเงาได้ดี แต่คุ้มกันฝนได้ไม่ดีนัก หลังคาบ้านที่ทำด้วยสังกะสีก็ยังพอพบเห็นได้บ้างเนื่องจากปลูกสร้างง่าย น้ำหนักเบา และมีราคาถูก แต่จะมีปัญหาเรื่องความร้อนเมื่อถูกแสงแดดและมีเสียงดัง เมื่อฝนตก สำหรับวัสดุมุงหลังคาที่ใช้กันมากในปัจจุบันจะทำด้วยกระเบื้องเป็นส่วนใหญ่เพราะให้ความสวย งาม คงทน ไม่ติดไฟ และคุ้มแดดคุ้มฝนได้เป็นอย่างดี กระเบื้องมุงหลังคาที่นิยมใช้กับอาคารบ้านเรือนทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา ( concrete roofing tile )
กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา ซึ่งมักจะเรียกกันทั่วไปว่ากระเบื้องโมเนีย เป็นกระเบื้องมุงหลังคา ที่นิยมใช้กันมากโดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยเพราะมีความแข็งแรง ป้องกันความร้อนได้ดี เสียงไม่ดังเวลาฝนตก ให้ความสวยงามเพราะมีให้เลือกหลายสี แต่มีข้อเสียอยู่บ้างคือมีน้ำหนักมากและราคาแพงกว่ากระเบื้องมุง หลังคาชนิดอื่น
2. กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา ( asbestos cement roofing tile )
กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา ซึ่งมักจะเรียกกันทั่วไปว่ากระเบื้องลอนคู่หรือกระเบื้องลูก ฟูกลอนเล็ก เป็นกระเบื้องมุงหลังคาที่นิยมใช้กันมากเช่นกัน มีความแข็งแรงและสวยงามน้อยกว่ากระเบื้องคอนกรีต แต่มีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่า มักใช้กับบ้านอยู่อาศัยที่ต้องการประหยัด และเนื่องจากการที่มีน้ำหนักเบากระเบื้องชนิดนี้สามารถใช้กับโครงสร้างของหลังคาขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว้างๆได้ เช่น อาคารโรงงาน กระเบื้องชนิดนี้มีขนาดของลอนให้เลือก 2 ขนาดคือ ลอนขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่ากระเบื้องลอนคู่ และลอนขนาดเล็กหรือที่เรียกว่ากระเบื้องลูกฟูกลอนเล็ก นอกจากนี้ยังมีวัสดุมุงหลังคาแบบอื่นอีกที่ผลิตขึ้นเพื่อเน้นคุณสมบัติเฉพาะตัวหรือเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษในการใช้งาน เช่น หลังคาพลาสติกใสเพื่อให้แสงสว่างสามารถผ่านเข้าไปในตัวอาคารได้ หลังคากระเบื้องดินเผาเพื่อเน้นศิลปะเฉพาะตัวแบบโบราณ หรือหลังคาเหล็กเคลือบสีเพื่อลดน้ำหนักของโครงสร้าง เป็นต้น ซึ่งวัสดุมุงหลังคาเหล่านี้มักมีที่ใช้เฉพาะด้านจึงไม่ค่อยพบเห็นกันมากนัก

ข้อสังเกตเกี่ยวกับกระเบื้องมุงหลังคาและการมุงหลังคา
1. กระเบื้องที่ใช้มุงหลังคาจะต้องอยู่ในสภาพที่ดีไม่มีรอยแตกหักหรือชำรุดอันอาจเป็นสาเหตุให้ เกิดการรั่วซึมได้ในภายหลัง
2. การผูกยึดแผ่นกระเบื้องเข้ากับโครงหลังคาจะต้องทำให้ครบถ้วนตามหลักเพื่อให้การเกาะยึด ของ แผ่นกระเบื้องมีความมั่นคง เรื่องนี้ถ้าเป็นไปได้ควรหาโอกาสสอบถามหรือพูดคุยกับผู้ควบคุมงานหรือ ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการมุงหลังคาเพราะบางครั้งการผูกยึดกระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องโมเนีย อาจทำการ ผูกยึดเป็นแนวสลับแนวเพื่อให้สามารถถอดกระเบื้องออกได้ในภายหลังเวลาที่ต้องการเปลี่ยนหรือซ่อมแซม แต่ ถ้าเป็นหลังคาที่มีความชันมากเกินกว่า 45 องศา อาจจำเป็นต้องผูกยึดทุกแนวเพื่อป้องกันไม่ให้กระเบื้อง เลื่อนหล่นลงมาเป็นต้น
3. การวางแนวกระเบื้องควรจะวางเป็นแนวตรงสวยงามไม่คดเป็นงูเลี้อยซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้กระ เบื้องแตกชำรุดได้ง่าย เนื่องจากการวางซ้อนกันไม่สนิททำให้กระเบื้องแต่ละแผ่นขาดความสมดุลใน การกระจายน้ำหนัก สำหรับกระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องโมเนียการวางกระเบื้องในแต่ละแถวที่อยู่ติดกันควรจะสลับแนวรอยต่อกันเพื่อป้องกันมิให้น้ำฝนไหลซึมเข้าตามร่องได้โดยง่ายและความชันของหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องชนิดนี้ไม่ควรต่ำกว่า 20 องศาโดยมีระยะทับซ้อนของกระเบื้องแผ่นบนและล่างอยู่ในช่วง 7-10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลย้อนขึ้นตามร่องที่กระเบื้องวางซ้อนกัน

4. ในกรณีที่เป็นกระเบื้องคอนกรีตจะต้องมีการก่อปูนทรายเพื่อครอบรอยต่อของหลังคาตามแนวสันของหลังคา การครอบกระเบื้องตามรอยต่อจะต้องทำอย่างประณีต เพราะจุดเหล่านี้จะเป็นจุดอ่อน ถ้าทำไม่ดีหรือมีรอยแตกจะทำให้น้ำฝนรั่วไหลลงไปได้ และการซ่อมแซมก็มักจะทำได้ลำบากเนื่องจากอยู่ ในที่สูง นอกจากนี้ การปีนขึ้นไปซ่อมหลังคาบางจุด ถ้าช่างซ่อมขาดความระมัดระวังหรือไม่ชำนาญพอก็ อาจทำให้หลังคาจุดอื่นแตกชำรุดได้อีก

5. หลังคาที่อยู่ส่วนชั้นบนสุดจะเป็นส่วนที่ถูกแสงแดดมากและเกิดความร้อนภายในห้องตรงบริเวณ ที่หลังคานั้นครอบคลุมอยู่ หากต้องการใช้วัสดุกันความร้อนเพื่อลดความร้อนดังกล่าวก็ควรจะปรึกษากับผู้ ออกแบบหรือกับผู้รับเหมาและระบุไว้ตั้งแต่แรก เพราะวัสดุป้องกันความร้อนบางชนิดจะต้องปูแนบกับตัวกระเบื้องมุงหลังคาเพื่อที่ช่างมุงหลังคาจะได้ปูวัสดุป้องกันความร้อนไปพร้อม ๆ กันกับขั้นตอนของการมุงหลัง คาเลยทีเดียว ไม่ต้องหาวิธีแก้ไขในภายหลัง

6. ในกรณีที่ใช้กระเบื้องลอนคู่หรือกระเบื้องลูกฟูกลอนเล็กมุงหลังคา การเรียงต่อของแผ่นกระ เบื้องตรงแนวลอนจะต้องทาบลอนซ้อนกัน ถ้าเป็นไปได้ก่อนการมุงกระเบื้องควรจะดูทิศทางของลมฝนก่อน เวลามุงกระเบื้องจะได้ซ้อนกระเบื้องตรงแนวลอนได้ถูกทิศทาง โดยให้แผ่นที่ซ้อนทับลอนด้านบนอยู่เหนือ ลมฝนเพื่อป้องกันมิให้ฝนสาดเข้าตรงรอยต่อดังกล่าว และหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องชนิดนี้ควรมีความชันไม่ น้อยกว่า 10 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลย้อนขึ้นตามร่องกระเบื้องที่วางซ้อนกัน

อ้างอิง : WWW.SRANGBAAN.COM (สร้างบ้านดอทคอม)