ประแจ (WRENCH)

06/12/2017 | 770926

ประแจ (WRENCH)

ในการผลิตประแจที่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่จะทำมาจากเหล็กกล้าและขึ้นรูปด้วยวิธีการตีขึ้นรูป แต่ประแจที่นำมาใช้งานที่ดีที่สุดนั้น จะทำมาจากเหล็กกล้าผสมโครเมียมและวานาเนียมและจะขึ้นรูปด้วยวิธีการตีขึ้นรูปเช่นเดียวกับแบบแรก คราวนี้เรามาทำความรู้จักประแจชนิดต่างๆ กันเลยครับ

(1) ประแจปากตาย (Fixed Wrench)

ประแจชนิดนี้ทำมาจากเหล็กเพียงชิ้นเดียว และที่ปลายทั้งสองด้าน จะมีขนาดคงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยประแจปากตายยังสามารถแบ่งออกเป็นอีกหลายชนิดได้แก่



(1.1) ประแจแหวน (Box Wrench)
ลักษณะเด่นอยู่ที่ปลายทั้งสองด้าน มีลักษณะเป็นแหวนวงกลม ภายในวงแหวนจะมีเขี้ยวประมาณ 6-12 เขี้ยว เพื่อใช้ในการจับเหลี่ยมแป้นเกลียวและสลักเกลียวได้อย่างมั่นคง

(1.2) ประแจปากตายปากคู่ (Open-end Wrench)

ปลายทั้งสองด้านมีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) ซึ่งจะมีขนาดที่ไม่เ่ท่ากัน ประแจชนิดนี้เหมาะกับงานในที่แคบมากที่สุด ในการใช้งานจะต้องระวังอย่าขันแน่นมากเกินไป เพราะจะทำให้สลักเกลียวชำรุดเสียหายได้

(1.3) ประแจรวม (Combination Wrench)

ประแจชนิดนี้ได้รวมเอาประแจแหวนกับประแจปากตายปากคู่เข้าไว้ด้วยกัน โดยที่ด้านหนึ่งมีลักษณะเหมือนกับประแจแหวน ส่วนอีกด้านจะเหมือนกับประแจปากตายปากคู่ ทำให้วสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ขนาดของหัวประแจจะมีขนาดที่เท่ากันทั้งสองด้าน

(1.4) ประแจกระบอก (Socket Wrench)

ประแจชนิดนี้สามารถนำไปใช้งานได้เหมือนกับประแจแหวน แต่ลักษณะที่แตกต่างกันจะอยู่ตรงที่ตัวประแจจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือด้ามประแจ (Cheater Bar) และหัวประแจ (Socket) ในส่วนของด้ามประแจนั้น ปลายด้านหนึ่งจะมีลักษณะเป็นด้ามจับ อีกด้านจะมีลักษณะเป็นหัวต่อ เพื่อนำไปต่อกับหัวประแจอีกทีหนึ่ง ลักษณะพิเศษของหัวต่อ คือสามารถหมุนได้ในทิศทางเดียว ทำให้สะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น (ภาษาช่างรุ่นเก๋ามักเรียกว่าประแจชนิดนี้ว่ากรอกแกรก ที่มาของชื่อน่าจะเป็นเพราะเสียงของมันเวลาใช้งานดังกรอกแกรก) ส่วนที่หัวประแจจะมีลักษณะเป็นบล็อกหกเหลี่ยมตามขนาดของแป้นเกลียว หัวประแจนอกจากจะมีลักษณะเป็นบล็อกแล้ว ยังมีลักษณะเป็นรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น หัวเป็นไขควง, ประแจหกเหลี่ยม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมอย่างข้อต่อประแจปรับได้ หรือบางครั้งจะเรียกว่า “ข้ออ่อน” จะทำให้สามารถทำงานได้หลายทิศทางมากยิ่งขึ้น

(1.5) ประแจหกเหลี่ยมหรือประแจแอล (Allen or Hex Wrench)

ในการเรียกชื่อของประแจประเภทนี้สามารถเรียกได้ 3 แบบคือ หากเป็นแบบอเมริกันจะเรียกว่า “Hex Wrench” หรือ “Allen Wrench” แต่ถ้าเป็นอังกฤษจะเรียกว่า “Allen Key” ลักษณะภายนอกของประแจประเภทนี้ก็คือ มีลักษณะเป็นตัวแอล (L) โดยลำตัวมีลักษณะเป็นหกเหลี่ยม ประแจประเภทนี้จะถูกนำไปใช้ในการขันนอตที่มีหัวเป็นหลุมหกเหลี่ยมหรือสลักเกลี่ยวที่ทำเป็นหัวกลม ส่วนกลางทำเป็นรูหกเหลี่ยม ซึ่งใช้สำหรับงานที่มีความพิเศษ เช่น สลักเกลียวปรับชิ้นงาน เป็นต้น ข้อควรระวังในการใช้งานคือ ความพอดีของแรงที่ใช้ในการขันจะต้องไม่ออกแรงมากเกินไป

2.ประแจเลื่อน (Adjustable Wrenches)



ประแจชนิดนี้เป็นประแจที่สามารถปรับขนาดได้ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของแป้นเกลียว การปรับขนาดนั้นจะปรับตรงส่วนที่เป็นสลักเกลียว ซึ่งถือได้ว่าได้ว่าเป็นข้อดีของประแจชนิดนี้ ทำให้สะดวกในการพกพาเพียงตัวเดียวก็สามารถใช้ได้เกือบทุกขนาด เมื่อเทียบกับประแจปากตายแล้วถือว่าสะดวกกว่ามาก แต่จุดด้อยของประแจเลื่อนก็คือ มีปากด้านหนึ่งที่สามารถปรับเข้าออกได้ เป็นผลให้ปากด้านนี้ไม่แข็งแรงในการใช้งานจึงต้องให้ปากประแจด้านที่ไม่เคลื่อนเป็นด้านที่รับแรงมากและปรับขนาดของปากให้แนบสนิทกับแป้นเกลียวทุกครั้ง โดยประแจเลื่อนยังมีอีกหลายชนิดเช่นเดียวกับประแจปากตสายดังนี้

(2.1)ประแจจับท่อ (Pipe Wrenches)

มีทั้งแบบด้ามขาเดียวและด้าม 2 ขา ปากของประแจสามารถปรับให้มีขนาดกว้างได้ตามต้องการ ประแจชนิดนี้จะผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการจับชิ้นงานที่มีลักษณะเป็นทรงกลม เช่น ท่อน้ำ เป็นต้น จึงทำให้ปากของประแจมีฟันที่ค่อนข้างคม มีผลให้ชิ้นงานที่ถูกจับหันตามทิศทางที่ประแจหมุนไป แต่ถ้าหมุนผิดทางจะไม่สามารถจับชิ้นงานให้หมุนตามประแจได้


(2.2)ประแจเลื่อนขนาดใหญ่

ประแจชนิดนี้จะจับแป้นเกลียวที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยมใหญ่กว่าขนาดของประแจปากตาย วิธีปรับปากประแจก็เพียงแต่ปรับที่เขี้ยวที่อยู่บริเวณด้ามจับ ประแจชนิดนี้จะมีขนาดตั้งแต่ 9-18 นิ้ว


การประยุกต์ใช้งานในลักษณะต่างๆ


การใช้งานประแจให้เหมาะสมกับงานนั้นจะต้องคำนึงถึงลักษณะงานที่เราจะนำไปใช้ด้วย มิเช่นนั้นแล้วอาจจะทำให้ตัวประแจหรือชิ้นงานเกิดการเสียหายได้ เช่น การใช้งานประแจปากตายจะต้องเลือกขนาดของประแจกับขนาดของแป้นเกลียวให้พอดีกัน ถ้าใหญ่เกินไปอาจทำให้แป้นเกลียวเสียหายได้ แต่ในบางครั้งเราอาจจะนำเอาประแจไปใช้แทนเครื่องมือชนิดอื่นๆ ในยามฉุกเฉินได้เช่นกัน เช่น
1. ในกรณีที่หัวนอตมีลักษณะที่ใช้กับไขควง แต่ไม่สามารถใช้ไขควงได้ เราก็อาจจะใช้ประแจเลื่อนแทนได้ โดยให้ทำการเลื่อยปลายของหัวนอตด้านนอกออกทั้งสองด้าน จากนั้นจึงนำประแจเลื่อนจับที่หัวนอตให้พอดี แล้วหมุนก็จะสามารถหมุนนอตออกมาได้อย่างง่ายดาย
2. ในกรณีที่นอตขันแน่นมาก จนไม่สามารถใช้ไขควงขันด้วยวิธีปกติ เราก็สามารถนำประแจเลื่อนมาช่วยในการผ่อนแรงได้ โดยนำประแจเลื่อนจับที่ส่วนปลายที่ใช้ขันนอต โดยเลื่อนขึ้นมาจากปลายเล็กน้อย จากนั้นนำปลายไขควงกดลงบริเวณหัวนอตที่ต้องการขัน แล้วจึงจับประแจหมุนออกได้
นี่ก็เป็นเพียงบางตัวอย่างในการจำประแจไปใช้งานประเภทอื่นๆ เท่านั้นนะครับ ยังมีอีกหลายวิธีที่จะนำประแจไปประยุกต์ได้อีก ก็แล้วแต่ว่าผู้ใช้งานจะมีไอเดียเพิ่มเติมในแต่ละสถานการณ์

ที่มา : http://www.inventor.in.th/home