การนำของเข้าทางไปรษณีย์

19/11/2017 | 343699
กรมศุลกากร กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าประเทศไทยโดยทางไปรษณีย์ ดังนี้
สิ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยทางไปรษณีย์จะถูกคัดแยกออกเป็น 3 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ของยกเว้นอากร คือของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท หรือตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและ ไม่มีราคาในทางการค้า และไม่เป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดในการนำเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับต่อไป

ประเภทที่ 2 ของต้องชำระอากร คือของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศซึ่งส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกันหรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อหากมีราคา FOB (Free On Board) รวมกันไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและค่าภาษีอากร แล้วส่งมอบให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับและเรียกเก็บภาษีอากรแทนกรมศุลกากร ซึ่งผู้รับของตามจ่าหน้าจะได้รับ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" โดยระบุให้ไปติดต่อรับของ / ชำระภาษีอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ตามใบแจ้งฯ
กรณีผู้รับของประสงค์จะโต้แย้งการประเมินภาษีอากรหรือขอยกเว้นภาษีอากร และมีหลักฐานเพียงพอ ให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. ให้ผู้รับของจัดทำคำร้องขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร (ขอรับแบบฟอร์มคำร้องได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ หรือสามารถพิมพ์แบบคำร้องได้ที่ www.postalcustoms.com) พร้อมแนบ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการซื้อขาย หลักฐานการชำระเงิน ฯ แล้วยื่นต่อที่ทำการไปรษณีย์ที่ไปติดต่อรับของ โดยยังไม่ต้องชำระค่าภาษีอากรแต่อย่างใด
2. ที่ทำการไปรษณีย์ที่ไปติดต่อรับของจะส่งหีบห่อที่ขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร พร้อมคำร้องขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากรและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์เพื่อพิจารณา
3. ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์จะแจ้งผลการพิจารณาให้ที่ทำการไปรษณีย์ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อแจ้งผู้รับต่อไป ในการขอทราบผลการพิจารณาผู้ยื่นคำร้องสามารถแจ้งความประสงค์ว่าจะรอรับแจ้งผลการพิจารณาจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดและไปรับสิ่งของ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ระบุ หรือติดต่อขอทราบผลและรับสิ่งของด้วยตนเองที่ฝ่ายตรวจคัดไปรษณียภัณฑ์ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ อาคารศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) กรุงเทพมหานคร ซอยแจ้งวัฒนะ 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10020

ประเภทที่ 3 ของอื่นๆ นอกจากประเภทที่ 1 และ 2 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำไปเก็บรักษาในโรงพักสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือส่งไปที่ สำนักงาน/ด่านศุลกากรแล้วแต่กรณี ซึ่งผู้รับของตามจ่าหน้าจะได้รับ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" โดยระบุให้ไปติดต่อรับของ / ชำระภาษีอากร ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ หรือสำนักงาน/ด่านศุลกากรที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ
การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของประเภทที่ 3 สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ
1. กรณีของมีราคา FOB เกินกว่า 40,000 บาท ผู้รับของจะต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าโดยการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร ซึ่งส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยมีผู้ให้บริการ Service Counter คอยให้บริการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย อนึ่ง ของที่ส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกันหรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อหากมีราคา FOB รวมกันเกิน 40,000 บาท ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าเช่นเดียวกัน
2. กรณีของมีราคา FOB ไม่เกิน 40,000 บาท ผู้รับของไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและจัดเก็บค่าภาษีอากร ณ จุดเดียวกัน
เอกสารที่ต้องใช้ในการขอรับสิ่งของ
1. กรณีขอรับสิ่งของด้วยตนเอง
1. ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ
2. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้ หรือหนังสือเดินทาง (กรณีผู้รับของเป็นชาวต่างชาติ) ของผู้มีชื่อรับของตามที่ระบุในใบแจ้งฯ
2. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับสิ่งของแทน
1. ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยให้ผู้มีชื่อรับของบันทึกรายละเอียดการมอบอำนาจให้แก่ผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองทั้ง 2 ฝ่าย ที่ด้านหลังใบแจ้งฯ
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
3. กรณีผู้รับสิ่งของเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด
1. ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยให้ผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตราบริษัทที่ด้านหลังใบแจ้งฯ
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของ หรือผู้จัดการ หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารผูกพันนิติบุคคลนั้นๆ และลงนามรับรองสำเนา
3. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ห้างฯ ร้าน (ที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน) และ ลงนามรับรองสำเนาพร้อมประทับตราบริษัทฯ
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
หมายเหตุ รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจต่อให้บุคคลอื่นอีกมิได้