มาตรฐานและวิธีการทำงานสำหรับคอนกรีต

953694


การที่จะให้ได้โครงสร้างคอนกรีตที่ดี จะต้องประกอบไปด้วยการเลือกใช้คอนกรีตประเภทที่เหมาะสมกับการใช้งานต่างๆ และขั้นตอนการทำงานคอนกรีตที่ดี ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม จึงจะได้คุณภาพของงานที่ดี โครงสร้างคอนกรีตมีคุณสมบัติตามที่ต้องการและมีความแข็งแรง ทนทาน
ว.ส.ท. ได้แนะนำวิธีการทำงานสำหรับคอนกรีต จึงขอคัดลอกบางส่วนมาเป็นแนวทางการทำงานดังนี้

1.การลำเลียงคอนกรีต

ในการลำเลียงคอนกรีตที่ผสมแล้วต้องคำนึงถึงสภาพการลำเลียงคอนกรีตว่าต้องระวังให้เนื้อคอนกรีตสม่ำเสมอ และไม่แยกตัวก่อนการเทลงแบบ โดยต้องป้องกันคอนกรีตจากสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิ ความร้อน และความชื้น เป็นต้น


การเลือกวิธีการลำเลียงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

1) ปริมาณและอัตราการเทในแต่ละครั้ง
2) ขนาดและประเภทของโครงสร้าง
3) ลักษณะภูมิประเทศ สถานที่ทำงาน และเส้นทางการขนส่ง
4) ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าแรง ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ เป็นต้น


ข้อแนะนำ
ควรใช้เวลาในการลำเลียงคอนกรีตให้น้อยที่สุด โดยวิธีการที่เหมาะสมและประหยัดที่สุด เพื่อลดระยะเวลาในการเทคอนกรีตซึ่งจะทำให้คุณสมบัติของคอนกรีตไม่เปลี่ยนแปลงและสม่ำเสมอ นอกจากนั้นเพื่อให้การลำเลียง และการเทคอนกรีตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรวางแผนการเทคอนกรีตทุกครั้ง โดยคำนึงถึงสภาพของคอนกรีต ลักษณะของโครงสร้างที่จะเทคอนกรีต วิธีการลำเลียง และวิธีการเทคอนกรีต โดยมีหัวข้อที่ต้องพิจารณาดังนี้

(1) การเลือกใช้คอนกรีต
นอกจากกำลังอัดคอนกรีตแล้ว ควรเลือกใช้คอนกรีตให้เหมาะสมกับการเทลงแบบโครงสร้าง และเลือกวิธีการลำเลียงโดยคำนึงถึง ระยะเวลาในการก่อตัว ความข้นเหลว เป็นต้น โดยทั่วไประยะเวลาในการก่อตัวของคอนกรีตจะขึ้นอยู่กับส่วนผสมคอนกรีต วัตถุดิบที่ใช้ สารผสมเพิ่ม อุณหภูมิ ความชื้นของอากาศ และวิธีการลำเลียง
(2) แผนการเทคอนกรีต
การกำหนดแผนการเทคอนกรีต ต้องพิจารณาคุณสมบัติของคอนกรีต ชนิดของโครงสร้าง วิธีการเทคอนกรีต ปริมาณการเทคอนกรีตในแต่ละครั้ง ความยากง่ายในการเท สภาพอากาศ และอื่นๆ ที่มีผลต่อการเทคอนกรีต
(3) เครื่องมือและคนงานสำหรับการลำเลียง และการเทลงแบบ
การลำเลียงคอนกรีตควรรวดเร็วและใช้วิธีที่ประหยัด เพื่อลดการแยกตัวของคอนกรีต และลดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของคอนกรีตในด้านความสม่ำเสมอและความสามารถในการเท ดังนั้นต้องพิจารณาจำนวน ประเภทของเครื่องมือ และจำนวนคนงานที่ใช้ในการลำเลียงคอนกรีต
(4) เส้นทางการลำเลียงคอนกรีต
ควรเตรียมเส้นทางการลำเลียงคอนกรีตให้พร้อมก่อนการเท เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการลำเลียง และเพื่อให้งานเทคอนกรีตสำเร็จลงได้โดยใช้เวลาน้อยที่สุด
(5) การตรวจสอบคอนกรีต
ในขณะที่ทำการลำเลียงควรมีวิธีการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าคอนกรีตมีความสม่ำเสมอไม่แยกตัว


วิธีการลำเลียงคอนกรีต
วิธีการลำเลียงคอนกรีตที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสถานที่ผสมคอนกรีตและบริเวณที่จะทำการเทคอนกรีต โดยควรเลือกวิธีที่ไม่ทำให้คอนกรีตแยกตัว ตามข้อพิจารณาดังต่อไปนี้

1) เมื่อที่ผสมคอนกรีตอยู่ในระดับเดียวกับบริเวณที่ต้องการเทคอนกรีต ควรใช้วิธีการลำเลียงโดยคนงาน รถเข็น รถผสมคอนกรีต สายพานลำเลียง หรือคอนกรีตปั๊ม เป็นต้น
2) เมื่อที่ผสมคอนกรีตอยู่ในระดับสูงกว่าบริเวณที่ต้องการเทคอนกรีต ควรใช้วิธีการลำเลียงโดยราง สายพานลำเลียง หรือคอนกรีตปั๊ม เป็นต้น
3) เมื่อที่ผสมคอนกรีตอยู่ในระดับต่ำกว่าบริเวณที่ต้องการเทคอนกรีต ควรใช้วิธีการลำเลียงโดยใช้รอก ใช้ลิฟท์ รถเครน ทาวเวอร์เครน สายพานลำเลียง หรือคอนกรีตปั๊ม เป็นต้น
4) เมื่อที่ผสมคอนกรีตอยู่ห่างจากบริเวณที่ต้องการเทคอนกรีต ต้องใช้วิธีการลำเลียงโดยรถโม่ขนคอนกรีตมาส่งที่หน่วยงาน และลำเลียงต่อไปสู่บริเวณที่ต้องการเทคอนกรีตด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสม

2. การเทคอนกรีต

การเตรียมเทคอนกรีต
สิ่งที่ควรเตรียมก่อนเทคอนกรีต มีดังต่อไปนี้
1) ต้องตรวจสอบปริมาณ และตำแหน่งของเหล็กเสริมให้ถูกต้องตามที่ออกแบบไว้ ตลอดจนตรวจสอบแบบเทคอนกรีตและอุปกรณ์อื่นๆ ให้ถูกต้องตามแผนที่วางไว้
2) ตรวจสอบผนังของเครื่องมือลำเลียง เครื่องมือเท และผนังด้านในของแบบเทคอนกรีต เพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรกที่จะเข้าไปผสมกับคอนกรีตที่จะเท เช่น เศษดินโคลน หรือเศษไม้ เป็นต้น ผนังด้านในของเครื่องมือและแบบเทคอนกรีตดังกล่าว ควรจะมีการทำให้ชื้นก่อนเพื่อป้องกันการดูดซับน้ำจากคอนกรีตที่ลำเลียงหรือเท
3) ในการเทหลุมหรือบ่อ ควรกำจัดน้ำที่หลงเหลืออยู่ในบ่อก่อนที่จะเทคอนกรีต และควรป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงไปในบ่อในขณะที่เทคอนกรีตหรือขณะที่เทเสร็จแล้วใหม่ๆ

ข้อแนะนำ
การผูกเหล็กเสริมและวางตำแหน่งเหล็กเสริมต้องมีความมั่นใจว่ามีความแข็งแรงพอที่จะไม่เลื่อนตำแหน่งในขณะที่เทคอนกรีต ไม้แบบต้องมีความแข็งแรงพอเช่นกัน เศษดิน โคลน หรือเศษไม้ ที่ตกค้างอยู่ตามผนังของเครื่องมือลำเลียงหรือในแบบ จะมีผลเสียต่อกำลังของคอนกรีตในบริเวณที่มีวัสดุเหล่านี้ปะปนเข้าไป การที่ผนังของเครื่องมือลำเลียงหรือผนังแบบเทคอนกรีตดูดซับน้ำจากคอนกรีตในขณะที่เทคอนกรีต จะทำให้ผิวคอนกรีตไม่เรียบเมื่อแกะแบบแล้ว จึงควรทำให้ผนังเหล่านั้นชื้นก่อนการเทคอนกรีต แต่ไม่ควรทำให้เปียกมากจนมีน้ำขังอยู่ในแบบ
การลำเลียงคอนกรีตผ่านท่อเป็นระยะทางไกลๆ ควรมีการส่งมอร์ต้าร์นำไปก่อน มอร์ต้าร์ที่ใช้ส่งนำไปควรเป็นมอร์ต้าร์ที่มีส่วนผสมเหมือนกับมอร์ต้าร์ในคอนกรีตที่จะเท ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญเสียมอร์ต้าร์ไปเคลือบที่ผนังด้านในของท่อในช่วงต้นของการลำเลียงคอนกรีต
การเทคอนกรีตลงบนคอนกรีตเดิมหรือบนคอนกรีตที่เริ่มแข็งตัวแล้ว ควรเทมอร์ต้าร์ที่มีส่วนผสมเหมือนกับมอร์ต้าร์ในคอนกรีตที่จะเทลงไปก่อน ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มการยึดเกาะระหว่างคอนกรีตเดิมกับคอนกรีตที่เทใหม่ น้ำที่หลงเหลืออยู่ในบ่อที่จะเทคอนกรีตจะทำให้ส่วนผสมของคอนกรีตเปลี่ยนไป โดยทำให้กำลังของคอนกรีตและความทนทานลดลง ดังนั้นจึงควรกำจัดออกไปก่อนการเทคอนกรีต ในขณะที่เทคอนกรีตหรือในขณะที่คอนกรีตยังไม่แข็งตัวนั้น หากมีน้ำที่ไหลผ่านคอนกรีตน้ำจะกัดเซาะมอร์ต้าร์ออกจากผิวหน้าคอนกรีตได้ ทำให้ผิวคอนกรีตไม่สวย อีกทั้งกำลังและความทนทานในบริเวณนั้นจะลดลงด้วย

การเทคอนกรีต
ควรมีการวางแผนการเทคอนกรีตเพื่อให้สามารถเทได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพที่สุด โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่องานที่ไม่เกี่ยวข้อง การเทคอนกรีตที่ดี คือการเทเพื่อให้ได้คอนกรีตที่มีส่วนผสมสม่ำเสมอ ไม่มีการแยกตัว และไม่เกิดรูพรุน
ไม่ควรเทคอนกรีตให้กระทบโดยตรงกับเหล็กเสริมหรือข้างแบบ ควรเทคอนกรีตลงมาตรงๆ และไม่ควรให้คอนกรีตไหลไปในแนวราบเป็นระยะทางไกล ยกเว้นในกรณีของคอนกรีตไหล ซึ่งถูกออกแบบโดยมีการควบคุมการแยกตัว ถ้าพบว่ามีการแยกตัวของคอนกรีตหลังเริ่มการเทคอนกรีต จะต้องมีการแก้ไขทันที
ในกรณีที่แบ่งเทคอนกรีตต่อเนื่องกันเป็นชั้นๆ คอนกรีตที่เทใหม่ในชั้นบนควรเททับก่อนที่คอนกรีตชั้นล่างจะเริ่มก่อตัว
ในกรณีที่แบบมีความสูงมากไม่ควรเทคอนกรีตโดยปล่อยให้คอนกรีตตกอิสระจากส่วนบนที่สุดของแบบ แต่ควรใช้วิธีการใด ๆ เช่น สายพาน รางเท (Chute) ถัง หรือต่อท่อ เพื่อให้ระยะตกอิสระของคอนกรีตไม่เกิน 1.5 เมตร
ถ้าตรวจพบการเยิ้มของคอนกรีตระหว่างการเทคอนกรีต ควรหยุดเทจนกว่าจะกำจัดน้ำที่เยิ้มออกมาบนผิวคอนกรีตให้หมดก่อนที่จะเทคอนกรีตทับชั้นบนต่อไป
การเทคอนกรีตต่อเนื่องกันในองค์อาคารที่มีความสูง เช่น เสา หรือกำแพง ควรเทด้วยอัตราที่ไม่เร็วเกินไป โดยปกติอัตราการเทที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 3 เมตร (ความสูง) ต่อชั่วโมง

ข้อแนะนำ
การแยกตัวของคอนกรีตในขณะที่เทอาจทำให้เกิดรูพรุน (Honey-comb) ในคอนกรีตที่เทแล้ว ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่หินซึ่งแยกตัวจากมอร์ต้าร์จะรวมกันอุดตัวอยู่ในบริเวณเหล็กเสริมที่หนาแน่น และกีดขวางไม่ให้คอนกรีตผ่านเข้าไปเติมในบริเวณเหล่านั้นได้
การเทคอนกรีตอาจทำให้เหล็กเสริมหรือแบบเคลื่อนตัวได้ ดังนั้นเหล็กเสริมและแบบต้องมั่นคงเพียงพอ อย่างไรก็ตามในขณะเทคอนกรีตควรให้ช่างเหล็กและช่างแบบเตรียมพร้อมอยู่เสมอ หากจำเป็นต้องแก้ไขตำแหน่งของเหล็กเสริมและแบบที่เคลื่อนตัวเนื่องจากการเทคอนกรีตอย่างทันท่วงที
การบังคับให้คอนกรีตไหลไปในแนวราบเป็นระยะทางยาวๆ จะทำให้เกิดการแยกตัว ยกเว้นในกรณีของคอนกรีตไหลที่มีการออกแบบโดยควบคุมการแยกตัวที่ดี ดังนั้นไม่ควรใช้เครื่องเขย่าเพื่อทำให้คอนกรีตไหลไปเติมบริเวณข้างเคียง ควรระลึกอยู่เสมอว่าจุดประสงค์ของการใช้เครื่องเขย่า คือการทำให้คอนกรีตแน่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นการทำให้คอนกรีตไหลไปในแนวราบ
ถ้าพบว่าคอนกรีตที่เทไปแล้วมีการแยกตัวเกิดขึ้น แสดงว่าส่วนผสมของคอนกรีตไม่เหมาะสม จึงควรแก้ไขส่วนผสมของคอนกรีตทันทีที่ตรวจพบการแยกตัวก่อนที่จะทำการเทต่อไป
ควรเทคอนกรีตให้ต่อเนื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีรอยต่อ ทั้งนี้เนื่องจากรอยต่อที่เกิดจากการเทไม่ต่อเนื่องจะเป็นบริเวณที่มีแรงยึดเหนี่ยวกับคอนกรีตเดิมน้อยกว่าบริเวณที่เทได้อย่างต่อเนื่อง
การเทคอนกรีตโดยปล่อยให้ตกจากที่สูงมากเกินไปจะทำให้คอนกรีตบางส่วนค้างอยู่ตามเหล็กเสริมและข้างแบบในส่วนบน และเมื่อคอนกรีตเหล่านี้แข็งตัวในขณะที่ยังเทขึ้นมาไม่เต็มแบบ อาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับการเทต่อไป เช่น กีดขวางการไหลของคอนกรีตที่เทขึ้นมาถึงระดับดังกล่าว หรือทำให้ได้ผิวหน้าของคอนกรีตไม่เรียบ อีกทั้งอาจเกิดการแยกตัวเนื่องจากหินในคอนกรีตกระทบกับเหล็กเสริมหรือข้างแบบแล้วกระเด็นไปในส่วนอื่นของแบบ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดระยะตกอิสระของคอนกรีตเพื่อป้องกันการเสียหายดังกล่าว
การเทคอนกรีตในองค์อาคารที่มีความสูง เช่น เสาหรือกำแพง จะทำให้มีการเคลื่อนที่ของน้ำในคอนกรีตมาก ทั้งนี้เนื่องจากคอนกรีตด้านล่างจะต้องรับน้ำหนักของคอนกรีตที่อยู่ด้านบนมาก ทำให้น้ำเคลื่อนที่ขึ้นไปด้านบน น้ำที่เคลื่อนที่เหล่านี้จะทำให้เกิดการเยิ้ม (Bleeding) และมักจะสะสมตัวอยู่บริเวณด้านล่างของเหล็กเสริมและบริเวณด้านล่างของมวลรวม ทำให้แรงยึดหน่วงระหว่างคอนกรีตกับเหล็กเสริม และแรงยึดหน่วงระหว่างซีเมนต์เพสต์กับมวลรวมลดลง
การเทคอนกรีตในกำแพงควรเทคอนกรีตให้เคลื่อนตัวออกจากมุมดีกว่าที่จะเทเข้าไปหามุม
ในการเทคอนกรีตเป็นชั้นๆ ควรทำให้ส่วนบนของชั้นของคอนกรีตที่เทไปแล้วได้ระดับในแนวราบ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับแนวราบ ก่อนการเทคอนกรีตทับชั้นบนต่อไป

3. การทำให้แน่น

ในขณะที่กำลังเทคอนกรีตอยู่นั้น จำเป็นต้องทำคอนกรีตให้แน่นโดยทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์ที่ใช้มือ ใช้เครื่องเขย่า หรือจะใช้เครื่องตบแต่ง ทั้งนี้เพื่อให้ได้คอนกรีตที่แน่น มีการยึดหน่วงกับเหล็กเสริมดีและได้ผิวเรียบ
รอบๆ เหล็กเสริม และสิ่งที่จะฝังติดในคอนกรีต และตามมุมของแบบหล่อควรจะทำคอนกรีตให้แน่นเป็นพิเศษ อาจจะใช้ฆ้อนเคาะภายนอกของแบบหล่อด้านข้างเพื่อช่วยกระจายคอนกรีตไปแทรกทุกๆ มุมของแบบหล่อ แต่ไม่ควรจะทำมากเกินไป เพราะจะทำให้คอนกรีตเกิดการแยกตัว โดยน้ำและส่วนที่ละเอียดทั้งหลายจะเคลื่อนตัวขึ้นข้างบน น้ำที่ขึ้นมานี้มักจะรวมตัวอยู่ใต้เหล็กเสริมและใต้มวลรวมขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้แรงยึดหน่วงน้อยลง และกลายสภาพเป็นร่องขึ้นจนน้ำสามารถไหลผ่านคอนกรีตได้

การกระทุ้งด้วยมือ
สำหรับคอนกรีตที่อยู่ในสภาพเทได้ ต้องใช้เครื่องมือกระทุ้งให้สุดความหนาของชั้นที่กำลังเท และควรกระทุ้งให้ถึงหรือเลยเข้าไปในชั้นคอนกรีตข้างใต้เป็นระยะประมาณ 10 ซม. การใช้เกรียงตบตรงหน้าแบบหรือใกล้ๆ กับแบบตั้ง จะช่วยลดความขรุขระที่ผิว และลดรูช่องว่างที่เกิดจากฟองอากาศด้วย
สำหรับการกระทุ้งคอนกรีตที่ค่อนข้างแห้งด้วยมือ จะใช้เครื่องมือที่มีผิวหน้าเรียบๆ และหนักตบตรงผิวจนกระทั่งมอร์ต้าร์หรือซีเมนต์เพสต์ปรากฎเป็นแผ่นบางๆ ขึ้นที่ผิว ซึ่งเป็นลักษณะที่แสดงว่าช่องว่างในมวลรวมนั้นถูกซีเมนต์เพสท์แทรกเต็มหมดแล้ว

ข้อแนะนำ
การกระทุ้งด้วยมือเหมาะสมกับงานคอนกรีตที่มีปริมาณการเทน้อยหรืองานคอนกรีตที่เหลวมาก เหล็กกระทุ้งอาจเป็นเหล็กเส้นกลมหรือเหล็กข้ออ้อย ซึ่งควรเลือกใช้ท่อนเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 16 มม.

การเขย่าด้วยเครื่อง
โดยทั่วไปการเขย่าด้วยเครื่องมีผลดีคือ สามารถใช้กับกรณีที่ไม่สามารถทำให้แน่นด้วยการกระทุ้งด้วยมือ ฉะนั้น การเขย่าด้วยเครื่องจะช่วยทำให้คอนกรีตที่มีค่าการยุบตัวต่ำสามารถอัดตัวแน่นได้ในแบบหล่อที่ลึกและแคบ หรือบริเวณที่มีเหล็กเสริมหนาแน่นและมีระยะเรียงของเหล็กเสริมแคบมาก ในกรณีคอนกรีตที่มีส่วนผสมเหลวและมีค่าการยุบตัวสูงจำเป็นต้องกระทุ้งคอนกรีตให้แน่นด้วยมือ แต่ถ้ามวลรวมหยาบเกิดแยกตัวเนื่องจากการเทคอนกรีตผิดวิธี จะแก้ไขด้วยวิธีใช้การเขย่าด้วยเครื่องไม่ได้
เครื่องเขย่าคอนกรีตแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ เครื่องเขย่าภายในแบบหล่อ เครื่องเขย่าที่วางบนผิวคอนกรีต และเครื่องเขย่าชนิดที่ตรึงติดกับแบบหล่อ

ข้อแนะนำ
ไม่ว่าจะใช้เครื่องเขย่าคอนกรีตชนิดไหนก็ตาม ควรเว้นระยะห่างสั้นๆ ให้เพียงพอที่ส่วนของคอนกรีตที่ถูกเขย่าแล้วมีระยะเหลื่อมกันโดยไม่เว้นข้ามส่วนไหนเลย ควรให้การเขย่าดำเนินต่อไปจนกระทั่งคอนกรีตแน่นตัวทั่วกันดี และแทรกเต็มช่องว่างทั้งหมด โดยสามารถสังเกตจากผิวคอนกรีตซึ่งจะมีลักษณะเรียบ และมวลรวมต่างๆ จมในคอนกรีต การเขย่ามากเกินไปจะทำให้มวลรวมหยาบทรุดตัวลงไปข้างล่าง ปล่อยให้น้ำหรือซีเมนต์เพสต์ลอยขึ้นมาข้างบน ปกติการเขย่าควรจะให้ผลที่ต้องการภายใน 5-15 วินาที ที่จุดห่างกัน 45-75 ซม.
เครื่องเขย่าภายในแบบหล่อ โดยทั่วไปหมายถึงเครื่องเขย่าแบบหัวจุ่ม ควรจะแหย่ลงไปในแนวดิ่งจนสุดความลึกของชั้นที่จะเท ไม่ควรลากหัวจุ่มผ่านคอนกรีตนั้นในแนวราบ ควรใช้วิธีแหย่หัวจุ่มลงไปและถอนขึ้นมาอย่างช้าๆ โดยเดินเครื่องอยู่ตลอดเวลาขณะที่กำลังถอนหัวจุ่มออกจากมวลคอนกรีต เพื่อจะได้ไม่มีรูช่องว่างเหลือค้างอยู่ในคอนกรีต ไม่ควรใช้เครื่องเขย่าเพื่อทำให้คอนกรีตไหลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดการแยกตัวขึ้นโดยหินจะตกค้างอยู่ในบริเวณที่แหย่หัวจุ่มค่อนข้างนาน
เครื่องเขย่าชนิดวางบนผิวคอนกรีต จะใช้ทำให้ชั้นที่กำลังเทแน่นตัวจนตลอดความหนาของชั้น แต่ถ้าทำให้แน่นตลอดชั้นไม่ได้ควรลดความหนาของชั้นลงมา หรือใช้เครื่องเขย่าที่มีกำลังสูงกว่า
เครื่องเขย่าชนิดที่ตรึงติดแบบหล่อ จะใช้ได้ดีสำหรับการเขย่าคอนกรีตที่มีความหนาน้อย หรือที่ตำแหน่งซึ่งเครื่องเขย่าภายในเข้าไม่ถึงเท่านั้น
ควรระมัดระวังเรื่องการเลือก การติดตั้ง และการเคลื่อนย้ายเครื่องเขย่าบ่อยๆ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดต่อความหนาแน่นของคอนกรีต การเขย่าชั้นตื้นๆ ให้ทั่วจะช่วยลดจำนวนฟองอากาศในท่อคอนกรีตสำเร็จรูปได้อย่างมาก ตามปกติ การเขย่าคอนกรีตชั้นที่ลึกลงไป หรือการเขย่าเหล็กเสริม จะทำให้คอนกรีตที่เริ่มแข็งตัวไปแล้วบางส่วนเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ต้องระวังอย่าให้เกิดความเสียหายถึงขนาดที่จะแก้ด้วยการเขย่าซ้ำไม่ได้ขึ้นเป็นอันขาด เนื่องจากการเขย่าคอนกรีตซ้ำจะเป็นประโยชน์ตราบเท่าที่คอนกรีตยังไม่เริ่มก่อตัว
ตราบใดที่เครื่องเขย่าชนิดที่ใช้แหย่ลงไปในคอนกรีตยังคงจมลงไปในคอนกรีตด้วยน้ำหนักตัวเองได้ การเขย่าคอนกรีตซ้ำจะมีประโยชน์มาก การเขย่าซ้ำทีหลังนี้จะช่วยขจัดการแตกร้าวทางแนวราบ และลดรอยร้าวเนื่องจากการหดตัวซึ่งเกิดจากการทรุดตัวของคอนกรีตที่ติดค้างอยู่บนเหล็กเสริมหรือค้างอยู่กับแบบหล่อที่ขรุขระได้

การขจัดรอยร้าวเนื่องจากการหดตัวแบบพลาสติกและการทรุดตัวของคอนกรีต
ถ้ามีรอยร้าวเนื่องจากการหดตัวแบบพลาสติกและรอยร้าวเนื่องจากการทรุดตัวของคอนกรีตเกิดขึ้น ควรทำให้คอนกรีตแน่นทันทีโดยการใช้เกรียงปาดหรือตบที่ผิวเพื่อขจัดรอยร้าวดังกล่าว

ข้อแนะนำ
ถ้าพื้นหรือคานคอนกรีตมีการต่อเชื่อมกับผนังหรือเสา เพื่อป้องกันการเกิดรอยร้าวเนื่องจากการทรุดตัว คอนกรีตของพื้นหรือคานควรจะเทหลังจากการทรุดตัวของคอนกรีตของผนังและเสาสิ้นสุดแล้ว นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงสร้างที่มีส่วนยื่น
ในกรณีของโครงสร้างคอนกรีตที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ระดับการทรุดตัวของคอนกรีตขึ้นอยู่กับพื้นที่หน้าตัดของโครงสร้าง และเมื่อคอนกรีตถูกเทครั้งเดียวรอยร้าวมักจะเกิดขึ้นในตำแหน่งที่เป็นขอบเขตของพื้นที่หน้าตัดต่างๆ ดังนั้น การเทคอนกรีตควรจะหยุดชั่วคราวเมื่อมีพื้นที่หน้าตัดแตกต่างกัน การเทคอนกรีตในส่วนบนซึ่งรวมถึงส่วนยื่นด้วยควรจะกระทำหลังจากการทรุดตัวของคอนกรีตในส่วนล่างสิ้นสุดแล้ว ระยะเวลาที่เกิดการทรุดตัวของคอนกรีตขึ้นอยู่กับส่วนผสมคอนกรีต วัสดุที่ใช้ อุณหภูมิ เป็นต้น โดยปกติจะอยู่ในช่วง 1-2 ชั่วโมง

4. การตกแต่งผิวหน้าคอนกรีต

เพื่อที่จะให้ได้ผิวหน้าของคอนกรีตที่สวยงามและเป็นเนื้อเดียวกัน ควรเทคอนกรีตให้ต่อเนื่องกันด้วยคอนกรีตที่มีส่วนผสมเหมือนกัน ใช้วัสดุผสมคอนกรีตประเภทเดียวกันและใช้วิธีการเทคอนกรีตแบบเดียวกัน

ข้อแนะนำ
การเทคอนกรีตโดยไม่ต่อเนื่องจะทำให้เกิดรอยต่อ ในกรณีที่จำเป็นต้องมีรอยต่อควรมีการวางแผนเพื่อให้รอยต่อนั้นเป็นเส้นตรงเพื่อความสวยงาม

การตกแต่งผิวหน้าคอนกรีตที่ไม่ได้มีการใช้แบบหล่อ
โดยปกติผิวหน้าคอนกรีตที่ไม่ได้มีการใช้แบบหล่อจะหมายถึงผิวหน้าของคอนกรีตในแนวราบ
1) หลังจากทำให้คอนกรีตแน่นและปาดผิวหน้าคอนกรีต เพื่อให้ได้ระดับและรูปร่างที่ต้องการแล้ว ควรรอให้น้ำที่เยิ้มออกจากคอนกรีตระเหยหรือถูกกำจัดหมดก่อนที่จะตกแต่งผิวหน้าคอนกรีต แต่ไม่ควรตกแต่งผิวมากหรือนานเกินไป
2) รอยแตกที่เกิดบนผิวที่ตกแต่งไปแล้ว สามารถจะกำจัดได้โดยการทำให้แน่นหรือตกแต่งอีกครั้งก่อนคอนกรีตเริ่มก่อตัว
3) ในกรณีที่ต้องการผิวหน้าคอนกรีตที่เรียบและแน่น สามารถทำได้โดยกดเกรียงลงบนผิวหน้าคอนกรีตที่ต้องการตกแต่งให้ทั่ว
4) ควรหลีกเลี่ยงงานตกแต่งผิวหน้าคอนกรีตในขณะที่ฝนตก

ข้อแนะนำ
(1) ถ้าไม่กำจัดน้ำที่เยิ้มขึ้นมาบนผิวหน้าของคอนกรีตก่อนการตกแต่งผิว จะทำให้เกิดรอยแตกเล็กๆ จำนวนมากบนผิวหน้าคอนกรีตหลังจากที่ตกแต่งผิวหน้าคอนกรีตเสร็จแล้ว การที่ตกแต่งผิวมากหรือนานเกินไป จะทำให้ซีเมนต์เพสต์ขึ้นมาอยู่บนผิวหน้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะนำไปสู่การแตกร้าวบนผิวหน้าได้
(2) สาเหตุของรอยแตกก่อนการก่อตัวของคอนกรีต อาจเกิดจากการหดตัวแบบพลาสติก (Plastic Shrinkage) หรือ การทรุดตัว (Settlement) ซึ่งในกรณีหลังจะทำให้เกิดรอยแตกบนผิวคอนกรีตตามแนวเหล็กเสริมได้
(3) การกดเกรียงลงบนผิวหน้าคอนกรีตให้ทั่วเพื่อให้ได้ผิวหน้าคอนกรีตที่แน่นสามารถทำได้โดยรอให้ผิวหน้าคอนกรีตเริ่มมีความแข็งพอประมาณ การทดสอบอาจทำได้โดยใช้นิ้วมือกดดู ช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเป็นช่วงที่เมื่อใช้นิ้วมือกดดูแล้วเริ่มไม่ปรากฎรอยนิ้วมือให้เห็นบนผิวหน้าของคอนกรีต
(4) ถ้าฝนตกลงบนคอนกรีตที่เทเสร็จใหม่ๆ น้ำจะชะผิวคอนกรีตสดละทำให้มอร์ต้าร์ที่ผิวหรือใกล้ๆ ผิวน้อยลงได้ ดังนั้น ควรหยุดงานตกแต่งผิวคอนกรีตจนกว่าฝนจะหยุดตก หรือถ้าจะตกแต่งผิวขณะฝนตกควรมีหลังคาป้องกันฝนที่ได้ผลเต็มที่

การตกแต่งผิวหน้าคอนกรีตที่มีการใช้แบบหล่อ
1) โครงสร้างหรือองค์อาคารที่เป็นคอนกรีตเปลือย จะต้องมีการควบคุมการคอนกรีตและการทำให้คอนกรีตแน่น เพื่อให้ได้ผิวหน้าที่มีมอร์ต้าร์ปกคลุมจนทั่ว
2) รอยสันหรือนูนบนผิวคอนกรีตควรได้รับการกำจัดเพื่อให้ได้ผิวหน้าคอนกรีตที่เรียบ ส่วนรูพรุนหรือรอยแตกควรทำการซ่อมแซมด้วยมอร์ต้าร์หรือคอนกรีตที่มีส่วนผสมที่เหมาะสม โดยการสกัดคอนกรีตส่วนที่ไม่แข็งแรงออก พรมน้ำให้เปียกแล้วจึงซ่อมด้วยมอร์ต้าร์หรือคอนกรีตที่เตรียมไว้
3) ในกรณีที่เกิดรอยแตกร้าวอย่างรุนแรงเนื่องจากการหดตัว หรือจากความแตกต่างของอุณหภูมิ ต้องทำการซ่อมแซมโดยวิธีที่เหมาะสม

ข้อแนะนำ
(1) โดยปกติหลังจากแกะแบบหล่อแล้ว ผิวหน้าของคอนกรีตที่ดีควรจะเป็นผิวหน้าที่เคลือบคลุมไปด้วยมอร์ต้าร์ โดยไม่เห็นเม็ดหินหรือทรายอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ยกเว้นในกรณีพิเศษที่ผิวหน้าถูกออกแบบให้เห็นเม็ดทรายหรือหิน
(2) การตกแต่งผิวเป็นพิเศษบางอย่าง เช่น การใช้แปรง การขัด การถู หรือการฉาบด้วยพลาสเตอร์ อาจทำได้เมื่อถอดแบบแล้ว และคอนกรีตมีกำลังบ้างพอสมควร แต่สำหรับการทำหินขัด การสกัดโดยใช้ฆ้อนหรือใช้ทรายพ่นผิว จะทำได้ก็ต่อเมื่อคอนกรีตแข็งตัวโดยตลอดเสียก่อน การอุดรูพรุนและฟองอากาศอาจทำได้โดยที่ทำให้ผิวคอนกรีตเปียกโดยทั่วกันก่อนแล้วให้ใช้ส่วนผสมปูนซีเมนต์ 1 ส่วนต่อทรายละเอียด 2.5 ส่วน ถูให้ทั่วๆ ด้วยอุปกรณ์แต่งผิว
(3) รอยแตกบางชนิดมีผลเสียต่อการรับแรงขององค์อาคาร ดังนั้น การซ่อมรอยแตกต่างๆ ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและวิธีการที่เหมาะสมด้วย การซ่อมบริเวณที่ชำรุดควรกระทำโดยที่ไม่ขัดขวางการบ่มคอนกรีต

การตกแต่งผิวหน้าของคอนกรีตที่รับแรงขัดสี
ถ้าต้องการให้คอนกรีตมีความต้านทานแรงขัดสีสูง ควรใช้คอนกรีตที่มีอัตราส่วนน้ำต่อปูนซีเมนต์ต่ำและต้องทำให้แน่นเป็นอย่างดี อีกทั้งต้องบ่มให้เพียงพอด้วย

ข้อแนะนำ
โดยปกติผิวคอนกรีตประเภทนี้ หมายถึง ผิวถนน ผิวเขื่อน ทางน้ำล้น ท่อน้ำ เป็นต้น การเพิ่มความต้านทานต่อการขัดสีของคอนกรีต ทำได้โดยใช้คอนกรีตที่มีอัตราส่วนน้ำต่อปูนซีเมนต์ต่ำ ใช้มวลรวมที่มีความแข็งแรงสูง เทและทำให้แน่นอย่างดี และบ่มให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเพิ่มความต้านทานการขัดสี อาจทำได้โดยการใช้คอนกรีตพิเศษชนิดต่างๆ เช่น โพลิเมอร์คอนกรีต หรือคอนกรีตเสริมใยเหล็ก เป็นต้น

5. การบ่มคอนกรีต

คอนกรีตจำเป็นต้องได้รับการบ่มทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการเท และควรบ่มต่อไปจนกระทั่งคอนกรีตมีกำลังอัดตามต้องการ หลักการทั่วไปของการบ่มที่ดีจะต้องสามารถป้องกันคอนกรีตไม่ให้เกิดการสูญเสียความชื้นไม่ว่าจะด้วยความร้อนหรือลม ไม่ให้คอนกรีตร้อนหรือเย็นมากเกินไป ไม่ให้สัมผัสกับสารเคมีที่จะเป็นอันตรายต่อคอนกรีตและไม่ถูกชะล้างโดยน้ำฝนหลังจากเทคอนกรีตเสร็จใหม่ๆ เป็นต้น

การบ่มเปียก
ในกรณีทั่วไปคอนกรีตต้องได้รับการป้องกันจากการสูญเสียความชื้นจากแสงแดดและลมหลังจากเสร็จสิ้นการเทจนกระทั่งคอนกรีตเริ่มแข็งแรง และหลังจากคอนกรีตเริ่มแข็งแรงแล้ว ผิวหน้าของคอนกรีตที่สัมผัสกับบรรยากาศยังต้องคงความเปียกชื้นอยู่ ซึ่งอาจทำได้โดยการปกคลุมด้วยกระสอบเปียกน้ำ ผ้าเปียกน้ำ หรือฉีดน้ำให้ชุ่ม เป็นต้น
- คอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ควรบ่มเปียกติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน
- คอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 3 ควรบ่มอย่างน้อย 3 วัน
- ในกรณีคอนกรีตที่มีวัสดุปอซโซลานผสม ควรบ่มมากกว่า 7 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัสดุปอซโซลานที่ใช้

ข้อแนะนำ
คอนกรีตที่ไม่ได้รับการบ่มอย่างถูกต้องจะไม่มีการพัฒนากำลังเท่าที่ควรเนื่องจากปฏิกิริยาไฮเดรชั่นต้องการน้ำ นอกจากนั้น การสูญเสียความชื้นจากผิวหน้าของคอนกรีตที่ไม่ได้รับการบ่มจะทำให้เกิดการแตกร้าวด้วย กรณีใช้กระสอบหรือผ้าในการบ่มคอนกรีต กระสอบหรือผ้าที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่มีความหนาพอสมควรเพื่อไม่ให้แห้งเร็วเกินไป และต้องรดน้ำให้เปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลาการบ่มด้วย โดยปกติ ควรบ่มคอนกรีตที่ใช้วัสดุปอซโซลานผสมแทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วนให้นานกว่าคอนกรีตธรรมดา เนื่องจากปฏิกิริยาปอซโซลานเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังปฏิกิริยาไฮเดรชั่น แต่ถ้าใช้วัสดุปอซโซลานปริมาณน้อย เช่น ไม่เกินร้อยละ 10-15 ของปริมาณวัสดุประสานทั้งหมด ก็อาจบ่มเช่นเดียวกับคอนกรีตธรรมดาก็ได้

สารเคมีสำหรับการบ่ม
โดยปกติสารเคมีสำหรับการบ่มจะใช้ต่อเมื่อไม่สามารถบ่มคอนกรีตแบบเปียกได้ สารเคมีสำหรับการบ่มนั้นจะใช้ฉีดพ่นลงบนผิวหน้าของคอนกรีตที่ต้องการบ่ม โดยควรฉีดพ่นซ้ำมากกว่า 1 เที่ยว เพื่อให้แผ่นฟิล์มเคลือบผิวหน้าคอนกรีตมีความหนาเพียงพอ และควรฉีดพ่นทันทีที่ผิวหน้าคอนกรีตเริ่มแห้งก็ให้ฉีดน้ำบนผิวคอนกรีตให้เปียกชุ่มไว้ก่อน

ข้อแนะนำ
การใช้สารเคมีสำหรับการบ่ม ไม่ควรจะฉีดพ่นสารเคมีเหล่านั้นลงบนเหล็กเสริม หรือรอยต่อของการก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวต้องการการยึดเกาะที่ดีกับคอนกรีตที่จะเทต่อไปภายหลัง

ข้อควรระวังสำหรับการบ่ม
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้คอนกรีตได้รับความเสียหายในขณะที่บ่มอยู่มีดังต่อไปนี้ การสั่นสะเทือน การกระแทก การรับน้ำหนักมากเกินไป การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างมากในเวลาสั้นๆ เป็นต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุต้นๆ ของคอนกรีต


6. การถอดแบบหล่อและค้ำยัน

1) จะถอดแบบหล่อและค้ำยันออกได้ก็ต่อเมื่อคอนกรีตมีกำลังอัดเพียงพอที่จะสามารถรับน้ำหนักของคอนกรีตและน้ำหนักอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างต่อไป
2) ขั้นตอนและระยะเวลาในการถอดแบบและค้ำยัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ ส่วนผสมของคอนกรีต ความสำคัญของโครงสร้าง ชนิดและขนาดของโครงสร้าง น้ำหนักที่กระทำต่อโครงสร้าง อุณหภูมิ และอื่น ๆ
3) กรณีโครงสร้างทั่วไปซึ่งมิได้มีข้อกำหนดระบุไว้ สามารถถอดแบบหล่อและค้ำยัน โดยมีค่ากำลังอัดของคอนกรีตขั้นต่ำดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 กำลังอัดขั้นต่ำของคอนกรีตสำหรับการถอดแบบหล่อและค้ำยันของโครงสร้างทั่วไป
ชนิดแบบหล่อของโครงสร้าง กำลังอัดขั้นต่ำของคอนกรีต ( กก./ตร.ซม.)
แบบหล่อด้านข้างของ เสา คาน กำแพง
และฐานราก 50
แบบหล่อท้องพื้นและคาน 140

4) กรณีโครงสร้างทั่วไปซึ่งมิได้มีข้อระบุไว้ และไม่มีผลทดสอบกำลังอัดของคอนกรีต ให้ใช้ระยะเวลาถอดแบบและค้ำยันเร็วที่สุดดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 อายุขั้นต่ำของคอนกรีตสำหรับการถอดแบบหล่อและค้ำยันของโครงสร้างทั่วไป
ชนิดแบบหล่อของโครงสร้าง อายุขั้นต่ำของคอนกรีต (วัน )
แบบหล่อด้านข้าง เสา คาน กำแพง
และฐานราก 2
แบบหล่อท้องพื้น 14
แบบหล่อท้องคาน 21


ข้อแนะนำ
(1) ขั้นตอนและลำดับการถอดแบบหล่อและค้ำยัน ควรคำนึงว่าโครงสร้างซึ่งมีค้ำยันค้างอยู่บางส่วนจะสามารถรับแรงหรือโมเมนต์ที่จะเกิดขึ้นได้โดยไม่แตกร้าว
(2) การกองวัสดุบนโครงสร้างคอนกรีต หลังจากการถอดค้ำยันแล้ว ต้องตรวจสอบว่าไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง เนื่องจากโครงสร้างขณะนั้นอาจจะยังไม่สามารถรับน้ำหนักบบรรทุกได้ตามที่ออกแบบไว้ นอกจากนี้ อาจจะต้องเคลื่อนย้ายวัสดุที่กองไว้บนโครงสร้างตั้งแต่ก่อนการถอดค้ำยันออกไป หากตรวจพบว่าอาจเกิดอันตรายต่อโครงสร้างเมื่อถอดค้ำยันออก

การค้ำยันกลับ ( Reshoring )
การค้ำยันกลับ หมายถึงการถอดไม้แบบและค้ำยันของโครงสร้างคอนกรีตออกแล้วดำเนินการใส่ค้ำยันกลับคืนอีกครั้งหนึ่ง
1) การค้ำยันกลับเพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้าง ต้องมีการวางแผนไว้ก่อนและได้รับการอนุมัติจากวิศวกรแล้วเท่านั้น
2) โครงสร้างซึ่งกำลังอยู่ในระยะเวลารอการค้ำยันกลับ ห้ามมิให้รับน้ำหนักบรรทุกจร เว้นแต่ตรวจสอบแล้วว่า ไม่เกินความสามารถรับน้ำหนักของโครงสร้างคอนกรีตขณะนั้น
3) ในขั้นตอนการค้ำยันกลับ โครงสร้างต้องไม่รับน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่วิศวกรกำหนดให้ อนึ่งการค้ำยันกลับจะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดภายหลังจากการถอดแบบหล่อและค้ำยันแล้ว
4) ค้ำยันที่ใช้ต้องขันให้แน่น เพื่อให้รับน้ำหนักโครงสร้างตามที่กำหนดไว้ ค้ำยันนี้ต้องคงค้างไว้จนกระทั่งผลทดสอบกำลังอัดคอนกรีตถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ข้อแนะนำ
(1) การค้ำยันกลับมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โครงสร้างคอนกรีตที่เพิ่งถอดแบบสามารถรับน้ำหนักบรรทุก และ/หรือ ถ่ายน้ำหนักบรรทุกที่จะมีเพิ่มขึ้นให้ลงสู่โครงสร้างส่วนล่าง
(2) การค้ำยันกลับอาจเกิดขึ้นได้หลายกรณี อาทิเช่น
- การถอดไม้แบบเพื่อนำไปหมุนเวียนใช้งานในส่วนอื่น แล้วนำค้ำยันมาค้ำกลับแทนเพื่อรับน้ำหนักบรรทุกที่จะเพิ่มขึ้นภายหลัง
- กรณีที่น้ำหนักบรรทุกที่จะเพิ่มขึ้นของโครงสร้างคอนกรีตมากกว่าเกินไม้แบบเดิมจะรับได้ อาจถอดไม้แบบออกเพื่อนำค้ำยันซึ่งแข็งแรงกว่ามาค้ำกลับ


ที่มา : "ข้อกำหนดมาตรฐานวัสดุและการก่อสร้างสำหรับโครงสร้างคอนกรีต", คณะอนุกรรมการคอนกรีตและวัสดุ คณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, มาตรฐาน ว.ส.ท. E.I.T Standard 1014-40
http://cpacacademy.com/index.php?tpid=0143