การเกษียณอายุและการนับอายุงาน

28/02/2023 | 1067

                                                                       ภาพที่ 1 พนักงานเกษียณบริษัท ฯ ปี 2565

ประเด็นปัญหา

              กรณีบริษัทฯ กำหนดอายุเกษียณของพนักงานที่ 60 ปี และกำหนดให้พนักงานเกษียณอายุ ณ วันสิ้นปีของอายุเกษียณ จะถือเป็นการต่ออายุเกษียณหรือไม่ (การต่ออายุเกษียณ หมายถึงการทำสัญญาจ้างงานต่อตามลักษณะของสัญญาจ้าง ใช่หรือไม่) และจะคำนวณสิทธิการได้รับค่าชดเชยอย่างไร

หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้อง

หมวด 11 ค่าชดเชย

มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

            (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

             (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

             (4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

             (5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            (6) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

              การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

             ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

             การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

มาตรา 118/1 การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง

             ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบ 30 วันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง

                                                                     ภาพที่ 2 กิจกรรมร่วมส่งพนักงานเกษียณ

ตอบประเด็นปัญหา

 ตามมาตรา 118/1  แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560  แม้จะให้สิทธิแก่นายจ้างและลูกจ้างตกลงอายุเกษียณกันเองหรือนายจ้างเป็นผู้กำหนด อายุเกษียณ ของลูกจ้างฝ่ายเดียวในข้อบังคับก็ตาม แต่ในมาตรา 118/1 วรรคสอง กำหนดสิทธิการแสดงเจตนา เกษียณอายุได้เมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปี

 ดังนั้น หากบริษัทฯ  จะกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 60 ปี และให้ พนักงานบริษัทฯ เกษียณอายุได้ ณ วันสิ้นปีของอายุเกษียณของพนักงานนั้น เห็นว่ากรณีนี้เป็นการที่บริษัทฯ กำหนด การเกษียณอายุลูกจ้างไว้ตามมาตรา 118/1  วรรคหนึ่งแล้ว ซึ่งบริษัทฯ จะกำหนดการเกษียณอายุ ลูกจ้างตามปีปฏิทินหรือปีงบประมาณของบริษัทฯ ก็ได้

 ดังนั้น แม้พนักงานบริษัทฯ จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก่อนถึงวันสิ้นปีปฏิทินตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ พนักงานผู้นั้นก็ไม่อาจใช้สิทธิเกษียณอายุ ตามมาตรา 118/1 วรรคสองได้ เพราะมิใช่กรณีที่นายจ้างมิได้กำหนด การเกษียณอายุหรือกำหนด  การเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี ทั้งนี้ตามคำชี้แจงกระทรวงแรงงาน เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2561 (แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และ การเกษียณอายุ) )

สำหรับกรณีที่พนักงานมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่พนักงานไม่ประสงค์จะ เกษียณอายุและทำงานต่อไป เมื่อถึงวันสิ้นปีของปีที่พนักงานมีอายุเกษียณจะถือว่าพนักงาน พ้นจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ด้วยเหตุเกษียณอายุตามที่กำหนด ในข้อบังคับเว้นแต่จะมีการตกลง ต่ออายุสัญญาจ้างแรงงานก่อนการเกษียณอายุตามข้อบังคับและเป็นการตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุ ทั้งนี้ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายอยู่

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 118  กำหนด หลักเกณฑ์ การจ่ายค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างหรือเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุได้ โดยอัตราค่าชดเชยที่นายจ้าง ต้องจ่ายนั้นขึ้นอยู่กับอายุงานของลูกจ้างตามที่กำหนด ในมาตรา 118 (1) – (5) จากข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทฯ กำหนด อายุเกษียณไว้ที่ 60 ปี และมีผลเลิกสัญญาจ้างในวันสิ้นปี

ดังนั้น กรณีพนักงานมีอายุครบ 60 ปี และเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ ที่กำหนด การเกษียณอายุมีผลเลิกสัญญาจ้างในวันสิ้นปี ดังนั้น ต้องนับอายุงานของพนักงานตั้งแต่วันแรกเข้าจนถึงวันที่ 31  ธันวาคม หากข้อเท็จจริงพบว่า พนักงานมีอายุงาน 15 ปี จึงต้องด้วยบทบัญญัติที่ว่าลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10  ปีขึ้นไป บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันตามมาตรา 118 (5) รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นตามข้อตกลงในวันที่การเลิกจ้างมีผล

                                                                                                                       

                                                                                                                        นายนราธิป มาตราช

                                                                                                                        หัวหน้าแผนกบุคคล

แหล่งอ้างอิง

-          พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

-          กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

-          คำชี้แจงกระทรวงแรงงาน เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2561