ประเภทของสีพ่นรถยนต์ที่มีจำหน่ายภายในประเทศ

22/02/2018 | 6208


ประเภทของสีพ่นรถยนต์ที่มีใช้และจำหน่ายกันอยู่ในประเทศไทยมีคร่าวๆดังต่อไปนี้ครับ

1 สีแห้งเร็วไนโตรเซลลูโลส(Nitro cellulose) เป็นสีพ่นรถยนต์ที่ตลาดเรียกกันติดปากว่าสีเบอร์ ทำจากตัวกาวประเภทไนโตรเซลลูโลสราคาถูกมาก (ประมาณ 180 บาทต่อลิตร) แต่ปราศจากความเงาความคงทนต่อแสงแดด ความคงทนต่อสารเคมี การกลบตัวของสีเนื้อสีไม่ดี ทำให้ต้องพ่นหลายเที่ยวกว่าจะกลบสีรองพื้นสีประเภทนี้นิยมใช้กับอู่เล็กๆทั่วไปที่เสนอราคาให้กับลูกค้าถูกเกินความเป็นจริง (8000 - 12000 บาท รอบคัน)

2 สีแห้งเร็ว-กึ่งแห้งเร็วอะครีลิก (Acrylic) เป็นสีพ่นรถยนต์ที่ตลาดมักเรียกว่าสีแห้งเร็ว ทำจากตัวกาวประเภท อะครีลิก แห้งตัวเร็ว มีความเงาที่ดีกว่าสีประเภทไนโตรเซลลูโลส แต่ไม่มีความคงทนต่อสารเคมี เช่นน้ำมันเบนซิน น้ำมันเบรก ขี้นก เมื่อสิ่งเหล่านี้หล่นหรือหกใส่ จะทิ้งร่องรอยการกัดกร่อนหรือซีดจาง ให้เห็นอย่างเด่นชัด นอกจากนั้น ยังไม่ทนต่อรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งมีอยู่ในแสงแดด (UV) ทำให้ความเงางามที่ถึงแม้จะดีกว่าสีประเภทไนโตรเซลลูโลส แต่ก็ไม่คงทนในระยะยาว โดยเฉพาะชิ้นส่วนของรถในแนวนอนเช่น ฝากระโปรงหน้า/หลัง และหลังคาจะซีดจางเมื่อตากแดดเป็นเวลานานๆ สีประเภทนี้เป็นสีที่มีมากที่สุดในตลาด ผมได้เจอลูกค้าที่นำรถเข้ามาทำสีกับเรา และมีอาการแตก ร่อน ร้าว หรือสีด้าน ลูกค้าที่รับรถไปในเดือนหรือสองเดือนแรกจะรู้สึกดี เนื่องจากยังมีความเงางามอยู่ แต่ในช่วง หกเดือนถึงหนึ่งปี ความเงางามจะตกลงเนื่องจากอะครีลิกเป็นอะไรที่ไม่ค่อยทนต่อแดด เมื่อความเงาและเนื้อของชั้นแลกเกอร์ตกลงถึงขีดสุดก็จะมีอาการแตกร้าวครับ แลกเกอร์บางตัวจะผสมทั้งอะครีลิกและโพลียูรีเทนเข้าด้วยกันเพื่อยืดอายุการใช้งานของตัวรถให้ได้นานที่สุด แต่ก็จะส่งผลให้มีอาการเด่นชัดในช่วงเวลา 1-2 ปี

3 สีแห้งช้าโพลียูรีเธน (Polyurethane) เป็นสีพ่นรถยนต์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในตลาด เนื่องจากว่าสีประเภทนี้จะแห้งและแข็งตัว โดยการทำปฏิกิริยาทางเคมีของสีและตัวทำให้แข็ง (Hardener) และการแห้งผิวของสีประเภทนี้หลังจากพ่นเสร็จจะใช้เวลาประมาณ 10 -20 นาที ดังนั้นสีประเภทนี้จึงต้องพ่นในที่ๆปราศจากฝุ่น และเมื่อพ่นเสร็จแล้วก็ต้องทิ้งรถไว้ในที่ๆปราศจากฝุ่นต่อไปจนกว่าผิวหน้าของสีจะแห้งตัวจึงจะนำออกมาทิ้งไว้นอกห้องพ่นสีได้ แต่หากจะให้สีประเภทนี้แห้งสนิทจะต้องทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง หรือเร่งการแห้งโดยอบที่อุณหภูมิประมาณ 60 องศา เป็นเวลา 30 นาที แม้ว่าการพ่นสีประเภทนี้จำเป็นต้องมีอุปกรณ์บางอย่างที่จำเป็นเพิ่มเข้ามาเช่น ห้องอบพ่นสี ปืนพ่นสีอย่างดี ปั๊มลมที่มีขนาดใหญ่พอ รวมทั้งความละเอียดอ่อนของช่างพ่นสี แต่อย่างไรก็ตาม สีประเภทนี้ให้ประโยชน์หลายประการโดยเฉพาะกับเจ้าของรถ อาทิเช่น ความเงางามสูง ความแข็งของผิวสีดีเยี่ยม ทนต่อน้ำมันเบรค น้ำมันเบนซิน และสารเคมีต่างๆ ทนต่อรังษีอุลตราไวโอเลต (UV) ที่มีในแสงแดด ทำให้สีคงทนอยู่นานหลายปี ส่วนเจ้าของอู่เคาะพ่นสีเองก็ได้ประโยชน์เช่นกันจากการใช้สีประเภทนี้ ถึงแม้ราคาสีจะสูงกว่าสีประเภทอื่นที่กล่าวข้างต้น อาทิเช่น ลดจำนวนเที่ยวพ่น ลดเวลาที่ต้องมาขัดเงาเพื่อให้ได้ความเงางาม เนื่องจากสีประเภทนี้มีความเงางามในตัว ทำให้งานเสร็จเร็วและสวยงามมากขึ้น แต่ประโยชน์ประการหลักที่เจ้าของอู่เคาะพ่นสีที่ใช้สีประเภทนี้ได้รับคืองานคุณภาพ และชื่อเสียงในด้านคุณภาพของงานสีครับ



ผมว่าในอดีต เจ้าของรถไม่มีความรู้ใดๆทั้งสิ้นเกี่ยวกับประเภทของสีพ่นรถยนต์ ดังนั้นเมื่อรถต้องเข้าซ่อมสีจึงทำเพียงแค่นำรถไปเข้าอู่ใดอู่หนึ่งที่สะดวกและเห็นว่าดี ราคาย่อมเยาว์ (ในกรณีที่ไม่มีประกันภัย) เร่งระยะเวลาการซ่อมกับเจ้าของอู่ เพื่อจะได้รถกลับมาใช้อีกในเวลาอันสั้น แต่ไม่ได้เลือกประเภทสีที่จะใช้พ่นรถของตนแต่ประการใด ทำให้ประสบกับปัญหาบางประการหลังจากรถของตนซ่อมเสร็จแล้วและนำออกไปวิ่งได้สักระยะหนึ่ง เช่น สีไม่เงา ฟิล์มสีนิ่มไม่แข็งทำให้เป็นรอยขูดขีดง่าย เมื่อเด็กปั๊มเติมน้ำมันล้นถัง สีก็จะถูกน้ำมันเบนซินกัด จนซีดและทิ้งร่องรอยน่าเกลียดไว้ และอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

เมื่อเจ้าของรถที่ทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัย เกิดอุบัติเหตุและต้องการนำรถของตนเข้าซ่อมสี ก็จะเพียงแต่เลือกดูว่าอู่ใดอยู่ในสังกัดของบริษัทประกันภัยที่ตนทำประกันไว้ดูดีและอยู่ใกล้บ้าน ก็จะนำรถเข้าซ่อมที่อู่นั้นโดยไม่ได้พิจารณาหรือกำหนดประเภทของสีที่จะใช้พ่นรถของตนแต่ประการใด

ในปัจจุบัน เจ้าของรถมีความรู้มากขึ้นในระดับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องสีพ่นรถยนต์ เจ้าของรถทราบว่าสีที่ดีที่สุดสำหรับการซ่อมรถในขณะนี้คือสีแห้งช้า หรือสีทูเค (ถึงแม้จะไม่เข้าใจจริงสีประเภทนี้คืออะไร) ดังนั้น เวลาจะนำรถของตนเข้าซ่อมสีจึงพิจารณาเข้าซ่อมเฉพาะกับอู่ที่มีห้องพ่นอบสี และใช้สีแห้งช้า หรือสี2K แทนสีพ่นรถยนต์ประเภทอื่น รวมทั้งบริษัทประกันภัยบางบริษัท ก็ระบุให้อู่ที่อยู่ในสังกัดของตน ใช้สีแห้งช้า หรือสีทูเคเท่านั้นพ่นให้กับรถที่ทำประกันภัยไว้กับบริษัท


ที่มา http://www.tsmotor.co.th/thai/topics_read.php?topic_id=23