ประกับเพลา หรือ ยอย คืออะไร และ ประกับเพลา หรือ ยอย ของเครื่องจักรพ่น ลำเลียงปูนฉาบ IMER

29/10/2020 | 4017
“ประกับเพลา” อาจถูกเรียกเป็นปกติสำหรับช่างเมืองไทย ว่า “ยอย” ในเครื่องจักรพ่น ลำเลียงปูนฉาบ IMER หลักๆ มีประกับเพลา อยู่ 2 รุ่น คือ เครื่องพ่นและลำเลียงปูนฉาบ รุ่น STEP120 และ เครื่องคอมเพลสเซอร์ลำเลียงปูนผง รุ่น Twister140 โดยเป็น ประกับเพลา หรือ ยอย ลักษณะ ดังนี้

 



                                      

เครื่องลำเลียงปูนผงฉาบ รุ่น Twister 140 ประกับเพลา(ยอย) แบบเขี้ยวโค้ง

         

 แล้วประกับเพลา หรือ ยอย คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร ประกับเพลามีแบบ ไหนบ้าง มีรายละเอียด ดังนี้
          ประกับเพลา คือ ตัวเชื่อระหว่างของ 2 สิ่ง ให้ทำงานไปพร้อมกันตามตัวส่งกำลัง เช่น การใช้ ประกับเพลา ต่อระหว่าง MOTOR และ GEAR หรือ ในเครื่องจักร IMER ใช้ต่อมอร์เตอร์กับใบมิกซ์ ด้วย
ทำหน้าที่ยึดเพลาสองเพลาให้เข้าด้วยกัน เพื่อส่งถ่ายแรงบิดที่มีการเยื้องศูนย์ของเพลา ส่งผ่านแรงบิดจากเพลาต้นกำลังสู่เพลาเครื่องจักร และชดเชยระยะการเคลื่อนตัวระหว่างปลายเพลา
แรงบิดที่มีการเยื้องศูนย์ หรือ Shaft Misalignment จะส่งผลต่อ อุปกรณ์ต่างๆ ของระบบส่งกำลัง เช่น ลูกปืน โดยการตั้งศูนย์เพลาที่ดีจะสามารถยืดอายุการใช้งานของตลับลูกปืนได้ 2-3 เท่า ตัวประกับเพลา หรือ ยอย ขณะที่ใช้งาน จะมี เรื่อง อุณหภูมิ ความชื้น การสัมผัสกับแมททีเรียล เช่น น้ำปูน มอร์ต้า ทำให้มีการยึดหรือหดตัว การยุบตัว ของวัสดุที่เลือกมาทำ ประกับเพลา หรือ ยอย การใช้งานเครื่องจักรเหล่านี้ จะมีการส่งกำลังจากมอร์เตอร์ แน่นอนว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะการทำงานที่อยู่ภายใต้การเยื้องศูนย์ของแกนเพลาได้ การเลือกใช้งาน ประกับเพลา หรือ ยอย ให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญนั่นเอง
ประกับเพลา หรือ ยอย มีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน และระดับการยอมรับการเยื้องศูนย์ แยกประเภท ได้ดังนี้

1. ประกับเพลาที่มีส่วนยืดหยุ่น ทำด้วยยางหรือยางสังเคราะห์
2. ประกับเพลาที่เป็นส่วนยืดหยุ่น ทำด้วยโลหะ และไม่ต้องการสารหล่อลื่น
3. ประกับเพลาที่เป็นโลหะและต้องใช้สารหล่อลื่น
4. ประกับเพลา ที่ทำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ เช่น ประกับเพลาช่วยการออกตัวอย่างนิ่มนวล
ประกับเพลา สำหรับงานที่มีการตัดต่อการส่งกำลังเป็นจังหวะ เป็นต้น

ประกับเพลาส่วนใหญ่ ทำจากยาง ซึ่งยางโดยทั่วไปจะมีความสามารถในการรับแรงกด (Compression) สูงกว่าแรงเฉือน (Shear) ประมาณ 5-10 เท่า แต่จะไม่สามารถรับแรงดึง (Tension) ได้มากนัก เนื่องจากพื้นที่รับแรงของยางจะลดลงตามขนาดของแรงดึง และเมื่อเกิดรอยแตกของเนื้อยาง จะทำให้ยางเกิดการฉีกขาดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้การส่งกำลังของประกับเพลา ให้มีการรับแรงของยางออกเป็น 2 ประเภท คือ รับแรงกดอัด และ รับแรงเฉือน วัสดุ ที่เลือกใช้ทำประกับเพลาจึงมีส่วนสำคัญมาก แยกได้ ดังนี้

1. ยางชนิดยืดหยุ่น รับแรงกดอัด (Elastomeric Compression) ได้แก่ ประกับเพลาแบบเขี้ยว (Jaw Couplings), ประกับเพลาแบบโดนัท (Donut Shape Couplings) มีความสามารถในการรับแรงบิดได้สูง

- ประกับเพลาเขี้ยว (Jaw Couplings) ติดตั้งง่าย มีราคาถูก โดยส่วนมากจะใช้ในงานส่งกำลังปั้ม, ห้องเฟือง, พัดลม เป็นต้น เนื่องจากประกับเพลาเขี้ยวสามารถลดการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนได้ไม่ดีนัก จึงไม่เหมาะสมกับการส่งกำลังของเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรที่มีการทำงานแบบลูกสูบที่มีการปิด-เปิดบ่อยครั้ง ประกับเพลาเขี้ยวแบ่งได้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือแบบเขี้ยวตรง (Straight Jaw Couplings) และ แบบเขี้ยวโค้ง (Curved Jaw Couplings) ประกับเพลาประเภทนี้จะประกอบไปด้วย ดุม (Hub) และลูกยางแฉก (Spider) ลูกยางแฉกจะติดตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างดุมทั้งสอง โดยวัสดุทำมาจาก NBR, URETHANE, HYTREL, BRONZE, NYLON, VITON, ZYTEL ทำหน้าที่ส่งผ่านแรงบิดซึ่งรับแรงในแนวกดอัด โดยทั่วไปควรเปลี่ยนลูกยางแฉก (Spider) เมื่อมีการยุบตัวถาวรของยางประมาณ 25% ของความหนาเดิม ในบางครั้งเมื่อเกิดภาระเกินกำลังหรือไม่มีการเปลี่ยนลูกยางแฉกเมื่อหมดสภาพการทำงาน เราจะสามารถได้ยินเสียงโลหะกระทบกัน เพราะลูกยางแฉกถูกกดอัดจนเสียรูป เขี้ยวของดุมโลหะก็จะกระทบกันเอง เป็นสัญญาณว่าควรจะเปลี่ยนลูกยางแฉกเพื่อป้องกันความเสียหายของดุม

- ประกับเพลาโดนัท (Donut Shape Couplings) ลูกยางโดนัทยึดโดยสลักเกลียวเข้าระหว่างดุมทั้ง2 ซึ่งสลักเกลียวดังกล่าวจะสร้างแรงกดก่อนหน้า ให้กับลูกยางโดนัท ทำหน้าที่ส่งผ่านแรงบิด กดอัด ทนทานต่อความล้าได้ดีมาก รับแรงบิดได้สูง ป้องกันการเกิดแรงดึงเพิ่มความสามารถในการรับแรงบิดและยืดอายุการใช้งาน อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการลดการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องยนต์และจากความผิดปกติของระบบส่งกำลัง ความไม่สมดุล และการเยื้องแกนเพลา ได้เป็นอย่างดี

2. วัสดุยางยืดหยุ่นรับแรงเฉือน (Elastomeric Shear Couplings) ได้แก่ ประกับเพลาเฟืองยาง (Elastomeric Sleeve Couplings), ประกับเพลาเฟืองไนลอน (NYLON Sleeve Couplings), ประกับเพลาล้อยาง (Tire Couplings)

- ประกับเพลาเฟืองยาง (Elastomeric Sleeve Couplings) ทำงานส่งผ่านแรงบิดโดยเฟืองยางซึ่งถูกประกบอยู่ระหว่างดุมหน้าแปลนสองอัน สามารถลดการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนและดูดซับแรงกระแทกได้ ปลอกเฟืองยางมีความกลวงภายในทำให้ติดตั้งได้แม้ปลายเพลาขับและเพลาตามอยู่ใกล้กัน ปลอกเฟืองยางสามารถรับแรงบิดได้ประมาณ 3-4 เท่าของแรงบิดปกติ ประกับเพลานี้จะขาดตัวทันทีเมื่อเกิดแรงบิดเกินกำลังแบบฉับพลัน เพื่อป้องกันความเสียหายของชิ้นส่วนเครื่องจักรอื่น

- ประกับเพลาเฟืองไนลอน (NYLON Sleeve Couplings) ประกอบไปด้วยเฟืองไนลอนซึ่งถูกประกบด้วยดุม 2 ข้าง ส่งผ่านแรงบิดผ่านฟันปลอกเฟืองไนลอนและดุมโลหะ ช่วยกระจายแรงเค้นและลดแรงเสียดทานจากการสัมผัสระหว่างฟันเฟืองภายใต้ภาวะเยื้องแกนของเพลา โดยสามารถรับภาวะเยื้องแกนเพลาได้ตั้งแต่ 1-5 องศา ทำงานโดยไม่ต้องหล่อลื่น ทำให้ถูกจำกัดด้วยการควบคุมระดับของแรงเสียดทานระหว่างฟันของปลอกเฟืองไนลอนและดุมโลหะไม่ให้มากจนเกินไป จึงไม่สามารถรับแรงบิดได้สูงนักเมื่อเทียบกับขนาดของเฟืองไนลอน ใช้งานมากในการส่งกำลังด้วยชุดมอเตอร์ผลิตกระแสไฟฟ้า, ชุดปั้ม, งานอุตสาหกรรมระดับเบาและระดับกลาง เนื่องจากประกับเพลาชนิดนี้มีขนาดเล็กและเบา จึงมีการใช้งานส่งกำลังจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน กรณีที่เกิดภาระแรงบิดเกินกำลังจะทำให้เฟืองไนลอนเกิดการรูดตัวเพื่อหยุดการส่งกำลังต่อ ทั้งนี้เพื่อปกป้องเครื่องจักรเสียหาย

- ประกับเพลาล้อยาง (Tire Couplings) มีลักษณะคล้ายล้อยาง โดยดุมทั้งสองจะประกบยึดกับลูกยางแบบแคลมป์ (Clamp) ซึ่งส่วนของดุมจะทำหน้าที่เป็นชุดล็อคเพลา มีความแข็งแรงทนทานต่อความล้าสูง ประกอบกับการเสริมใยธรรมชาติเพิ่มความทนทานต่อการฉีกขาด และสามารถรับแรงบิดได้สูงขึ้นในขณะที่ระยะบิดต่ำลง การใช้งานประกับเพลาล้อยางเหมาะสมกับงานที่ต้องการส่งผ่านแรงบิดแบบไม่มีระยะคลอน หรือมีการเลื่อนตัวระหว่างปลายเพลาสูง

ความเสียหายของประกับเพลา
เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับประกับเพลาแบบอ่อนตัวอีลาสโตเมอร์ เช่น การขาดตัว, ลูกยางละลาย, เนื้อยางสึกกร่อน, ดุมแตก ฯลฯ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นและต้องทำการบำรุงรักษาเชิงป้องก้น เพื่อค้นหาความปกตินั้นให้พบ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วไปนั้นเกิดได้จาก 5 สาเหตุหลัก คือ

1. การเยื้องแกนของเพลา
2. เกิดภาระเนื่องจากการเลื่อนตัวระหว่างปลายเพลาสูง
3. เกิดภาระแรงบิดเกินกำลัง (Overload)
4. ขั้นตอนการเลือก, การใช้งาน, การติดตั้งและบำรุงรักษา
5. สภาพแวดล้อมสถานที่ทำงาน



 บทความจาก ฝ่ายขายเครื่องจักรและอะไหล่ IMER 
PST Group
line id : https://lin.ee/4anJqsCad