ไฟฟ้ามาถึงบ้านทุกคนได้อย่างไร

18/12/2018 | 5695

ไฟฟ้ามาถึงบ้านทุกคนได้อย่างไร

       กระแสไฟฟ้าแรงดันสูงนับแสนโวลต์จะวิ่งระยะทางไกล จากแหล่งผลิตไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และผ่านหม้อแปลงแรงดันไฟฟ้าที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง ไปยังสายส่งไฟฟ้าที่แรงดันต่ำลง ของการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก่อนที่จะลดแรงดันเหลือ 220 โวลต์วิ่งเข้าสู่บ้านเรา


ทำไมต้องส่งไฟฟ้าแรงดันสูงมาในตอนแรก ทำไมไม่ส่งแรงดันต่ำมาเลยจะได้ไม่ต้องผ่านหม้อแปลงแรงดัน?

คำตอบคือ ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าสูงจะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปได้ในระยะทางที่ไกล และมีการสูญเสียทางไฟฟ้าต่ำกว่าระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าต่ำ ซึ่งแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักๆของประเทศกระจายกันอยู่ตามภาคต่างๆ ซึ่งมีระยะทางไกลเป็นหลายร้อยกิโลเมตร ดังนั้นเสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จึงจำเป็นต้องอยู่ในสภาพดีอยู่ตลอดเวลา




สายไฟฟ้าแรงสูงมีอันตรายหรือไม่ และเราควรปฏิบัติอย่างไรในเขตระบบไฟฟ้าแรงสูง

คำตอบคือ กระแสไฟฟ้าสามารถกระโดดจากสายไฟฟ้าข้ามผ่านอากาศได้ โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสถูกสายไฟฟ้า แค่เพียงเข้าใกล้สายไฟฟ้าก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะต้องควบคุมดูแลและจำกัดการทำงานต่างๆ อย่างระมัดระวังและให้มีความปลอดภัยสูงสุด โดยไม่ควรเข้าใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงในรัศมี 4 เมตร


ถ้าหากสายไฟฟ้าแรงสูงเกิดข้อขัดข้องด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ย่อมส่งผลเสียในวงกว้าง กฟผ. จึงได้มีการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่พร้อมดำเนินการตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการชำรุดของเสาและสายส่ง หรือ การมีสิ่งแปลกปลอมไปติดที่เสาและสายส่ง กฟผ. พร้อมดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถช่วยกันดูแลและปกป้องสายส่งไฟฟ้าแรงสูงได้อีกทางหนึ่ง เช่น ระมัดระวังขณะใช้เครื่องจักรกลใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เช่น รถตัก รถเครน อย่าให้ชิ้นส่วนใดของรถเข้าใกล้สายส่งในรัศมี 4 เมตร ไม่เผาพืชในบริเวณใกล้แนวสายส่ง จุดประทัด พลุ หรือบั้งไฟ ใกล้แนวสายส่ง ไม่ปีนป่ายโครงเสาส่งไฟฟ้า ไม่เล่นว่าว เครื่องร่อน หากพบความผิดปกติกับสายส่งไฟฟ้าแรงสูง พบต้นไม้ใหญ่หรือสูงเกินกว่า 3 เมตร ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบโดยเร็ว ที่ศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. 1416 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง